วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

การสมรส

การสมรส

การสมรส หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า “แต่งงาน” นั้นก็คือ การที่ชายหญิง 2 คน ตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ซึ่งตามกฏหมายปัจจุบันนั้น กำหนดว่าการสมรสต้องมีการจดทะเบียนสมรส จึงจะมีผลตามกฏหมาย ดังนั้น ถ้าไม่มีการจดทะเบียนสมรส แม้จะมีการจัดงานพิธีมงคลสมรสใหญ่โตเพียงใด กฏหมายก็ไม่ถือว่าชายหญิงคู่นั้นได้ทำการสมรสกันเลย
การจดทะเบียนสมรสนั้น ให้ไปจดกับนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ เลย และต้องมีการแสดงถึงความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย ว่าต้องการที่จะทำการสมรสกันต่อหน้านายทะเบียนด้วย แล้วให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้
ปกติแล้ว การสมรสจะมีผลตามกฏหมายเมื่อได้มีการจดทะเบียนแล้ว แต่ในกรณีพิเศษ เช่น ถ้ามีสงครามเกิดขึ้น ทำให้ชายหญิงไม่สามารถไปจดทะเบียนที่อำเภอได้ ในกรณีนี้ ชายหญิงคู่นั้นอาจตกลงที่จะสมรสกัน ต่อหน้าบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ (มีอายุ 20 ปี บริบูรณ์) ที่อยู่ในที่นั้น และต่อมาเมื่อสงครามสงบ ชายหญิงคู่นั้นก็ต้องไปทำการจดทะเบียนสมรสภายใน 20 วัน ซึ่งกรณีนี้ กฏหมายถือว่า ชายหญิงคู่นี้ ได้ทำการสมรสกันมาตั้งแต่วันแรกที่ได้ตกลงสมรสกัน
ประโยชน์ของการจดทะเบียนสมรส
การจดทะเบียนสมรสนั้น นอกจากกฏหมายจะถือว่า ชายหญิงคู่นั้น ได้เป็นสามีภริยากันตามกฏหมายแล้ว ยังมีผลที่ตามมาอีกหลายประการ เช่น
1.      เป็นหลักประกันความมั่นคงได้ว่า ถ้าได้มีการจดทะเบียนแล้ว คู่สมรสอีกฝ่ายจะไปจดทะเบียนสมรสอีกไม่ได้ ถ้าฝ่าฝืนไปทำการจดทะเบียนเข้า ผลคือ การจดทะเบียนสมรสครั้งนี้ กฏหมายถือว่า เป็น โมฆะ (ใช้ไม่ได้) ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง จะแจ้งให้นายทะเบียนเพิกถอน หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาก็ได้ นอกจากนี้ คู่สมรสฝ่ายที่ไปจดทะเบียนซ้อน ก็อาจมีความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย
2.      ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้
3.      ในกรณีที่เป็นความผิดที่กระทำระหว่างสามีภรรยา เช่น สามี หรือภริยา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลักทรัพย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือในความผิดฐานอื่น เช่น ฉ้อโกง ยักยอก ทำให้เสียทรัพย์ หรือบุกรุก ซึ่งมีผลคือ สามีหรือภริยา นั้นไม่ต้องรับโทษตามกฏหมาย
4.      ในเรื่องอำนาจในการดำเนินคดีอาญาแทน ถ้าสามีภริยาถูก ทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถฟ้องคดีได้เอง ภริยาหรือสามีที่ยังมีชีวิตอยู่ (ที่ได้จดทะเบียนตามกฏหมาย) สามารถร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อตำรวจหรือฟ้องศาลแทนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นกรณีที่ผู้ตายหรือผู้บาดเจ็บไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย นอกจากนี้ ในคดีหมื่นประมาทที่กระทำต่อสามีหรือภริยา ถ้าต่อมาสามีหรือภริยานั้นได้ตาย ก่อนร้องทุกข์ (แจ้งความ) ภริยาหรือสามีที่ยังมีขีวิตอยู่ก็ร้องทุกข์หรือ ฟ้องหมิ่นประมาทได้เองด้วย เพราะกฏหมายให้ถือว่า เป็นผู้เสียหาย
5.      ถ้าคู่สมรสเป็นผู้เยาว์ที่มีอายุ ๑๗ ปีขึ้นไป เมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้ว กฏหมายถือว่า ผู้นั้นได้บรรลุนิติภาวะแล้ว และสามารถทำกิจการงานต่างๆ ได้เอง โดยไม่ต้องเป็นได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้ปกครอง และแม้จะหย่ากันก่อนอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ยังคงเป็นผู้บรรลุนิติภาวะอยู่
คุณสมบัติของผู้ที่จะขอจดทะเบียนสมรส
1.      มีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์
2.      ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามรถ
3.      ไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา
4.      ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา
5.      ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
6.      ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
7.      หญิงหม้ายจะสมรสใหม่เมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
-          คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
-          สมรสกับคู่สมรสเดิม
-          มีใบรับรองแพทย์ว่ามิได้ตั้งครรภ์
-          ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
8.      ชายหญิงที่มีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
1.      คู่สมรสต้องไปปรากฏตัวต่อหน้านายทะเบียนทั้ง 2 คน
2.      บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการของคู่สมรส
3.      พยานบุคคล 2 คน ถ้าไม่มีนายทะเบียนจะหาให้แต่ต้องเสียเงินค่าช่วยการพยาน คนละ 2.50 บาท
4.      ถ้าคู่สมรสทั้ง 2 ฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เยาว์(อายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์) ถ้าบิดามารดาไม่ให้ความยินยอมด้วยตนเองให้นำหนังสือแสดงความยินยอมของบิดามารดาไปด้วย
5.      ค่าธรรมเนียมไม่ต้องเสีย เว้นแต่ช่วยการพยานที่นายทะเบียนหาให้คนละ 2.50 บาท
6.      คู่สมรสอาจขอให้นายทะเบียนแห่งท้องที่ที่จะประกอบพิธีสมรสไปจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ได้ โดยยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพร้อมแจ้งความประสงค์และรายละเอียด ชื่อตัว ชื่อสกุล ของคู่สมรส ระบุวันเวลา สถานที่ที่จะให้ไปจดทะเบียน และเพื่อความสะดวกควรจัดยานพาหนะรับ-ส่งด้วย กรณีนี้ต้องเสียค่าธรรมเนียม 200 บาท หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงเช่นเดียวกับการจดทะเบียนในสำนักทะเบียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น